Loading ...

เมื่อเลนส์ในตำนาน Takumar 50mm 1.4 (8 Elements) ราขึ้น จะเป็นอย่างไร

ราขึ้นที่เลนส์ Super-Takumar 50mm f1.4 - 8 Elements

Lens Profile June 8, 2015

เริ่มจาก มาทำความรู้จักกับ รา ใน เลนส์กันก่อนครับ รูปด้านบนเป็นตัวอย่างเลนส์กล้องฟิลม์ที่มีราขึ้น ประจวบเหมาะกับมันเกินขึ้นกับเลนส์ในตำนานอย่าง Super Takumar 8 elements(สามารถดู Review เพิ่มเติมได้ที่นี่) โดยปกติต้องสังเกตุดีจริง ๆ ถึงจะเห็นเชื้อราภายในเลนส์ มีรูปร่างแตกต่างกันไป เป็นคล้าย ๆ ใยแมงมุมบ้าง เป็นจุด ๆ บ้าง ส่วนมากจะมองแทบไม่เห็นต้องยกส่งกับไฟถึงจะพอเห็นได้บ้าง แต่เลนส์ตัวนี้ตั้งแต่หยิบขึ้นมาทีแรกก็สามารถสังเกตุเห็นได้อย่างชัดเจน

สำหรับเนื้อหาในบทความจะแบ่งเป็น 3 ช่วง ในแต่ละช่วงจะแสดงภาพถ่ายเปรียบเทียบเลนส์ Super Takumar 8 elements (เรียกสั้น ๆ ว่า 8e) สองตัว ถ่ายในสถาณการณ์ต่าง ๆ โดยเริ่มจากการถ่ายในสถานการณ์ที่ควบคุมแสดงได้หมด ไล่ไปจนถึงสถาณการณ์ที่ควบคุมแสงได้ยาก ภาพทางด้านซ้าย จะเป็นภาพถ่ายจากเลนส์ 8e ปกติ (มีป้ายสัญลักษณ์ตัวอักษร A กำกับในภาพ) ภาพที่ได้จากทางด้านขวา จะเป็นภาพแบบ 8e (มีป้ายสัญลักษณ์ตัวอักษร B กำกับในภาพ)


หมายเหตุ: ซ้าย 8e ปกติ ขวา 8e ที่มีเชื้อรา

1. Diffusion tent ภาพถ่ายจากเต้นท์ถ่ายภาพ เป็นการจำลองสถาการณ์ที่เราสามารถควบคุแสดงได้หมด จากรูปตัวอย่างด้านบนจะมี 2 ภาพ ภาพที่มีสัญลักษณ์กำกับว่า "H" จะเป็นภาพที่ถ่ายโดยเปิดรูรับแสงแคบสุด f16 (ย่อมาจาก High Aperture) ส่วนภาพที่มีสัญลักษณ์กำกับว่า "L" จะเป็นการถ่ายภาพที่รูรับแสงกว้างสุด f1.4

สำหรับผลที่ได้ จากภาพต้องยอมรับว่าประหลาดใจมาก ตอนแรกคิดว่าภาพที่ได้มันต้องแย่กว่านี้ เพราะจากรูปแรกสุดที่เราเห็น เชื้อราขึ้นอยู่เต็มพื้นที่เลนส์ด้านใน ภาพที่ได้ควรจะประมาณว่า ภาพตัองมัว ๆ เหมือนเราพึ่งลืมตาตื่นนอนตอนเช้า หรือ ไม่ก็ต้องมีรอยด่าง ๆ เกิดขึ้นที่รูปทางขวา แต่ภาพที่ถ่ายออกมาดีเกิดคาดแฮะ อย่างไรก็ตาม พอมาสังเกตุดี ๆ ภาพทางขวาจะมีความอิ่มสีลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับภาพทางซ้าย สังเกตุที่ปลายหางเฮลิคอปเตอร์กับล้อรถปูนครับ สีซีดไปเลย โดยจะเห็นความต่างมากขึ้นเมื่อปรับรูรับแสงให้มากขึ้นที่ภาพหมายเลข 2 (B-L)

หมายเหตุ: ซ้าย 8e ปกติ ขวา 8e ที่มีเชื้อรา

2. Indoor ภาพถ่ายภายในอาคาร เป็นการถ่ายภาพที่สามารถควบคุมแสงได้ในระดับหนึ่ง ผลที่ได้ก็คล้าย ๆ กับภาพชุดแรกครับ สีซีดจางลงเมื่อรูรับแสงกว่างขึ้น (ภาพ 3 และ 4) ถ้าสังเกตุที่ภาพที่ 3 ตรงบริเวณ background ของจักรยาน ความคมชัดที่ภาพทางขวาจะน้อยกว่าภาพทางซ้าย

หมายเหตุ: ซ้าย 8e ปกติ ขวา 8e ที่มีเชื้อรา

3. Outdoor ภาพถ่ายภายนอกอาคาร เป็นการถ่ายภาพที่ควบคุมแสงได้ยาก และภาพมีรายละเอียดเยอะสุด ความแตกต่างที่เริ่มเห็นได้ชัดคือ ความเปรียบต่างของแสง (Contrast) โดยสังเกตุได้จากพื้นที่บริเวณใต้หลังคาของบ้านและตามเงามืดของอาคาร (ภาพที่ 5 และ 6 ) ส่วนเรื่องสีสันก็ซีดลงเหมือนกับภาพตัวอย่างอื่น ๆ ด้านบน

มาถึงภาพสุดท้ายที่ต้องเป็น Highlight ของบทความ แสงภาพเปรียบเทียบโบเก้ในภาพหมายเหข 7 ซึ่งเป็นจุดที่นักสะสมมือหมุนยอมเสียเงินเพิ่มสองเท่าเพื่อให้ได้ 8e มาครอบครอง อย่างไรก็ตาม การวิจารณ์โบเก้ เป็นเหมือนการวิจารณ์ศิลปะ ไม่มีอะไรผิดถูก แล้วแต่จินตนาการของแต่ละคนนะครับ ในที่นี้ สิ่งที่ทางผู้เขียนสังเกตุได้จากภาพที่ 7 คือ โบเก้ที่ถ่ายจากเลนส์ 8e ที่มีรา มีจำนวนเท่า ๆ กับเลนส์ 8e ปกติ แต่มีความชัดเจนน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด ที่สำคัญโบเก้ให้ความรู้สึกแบนราบมากกว่า เมื่อเทียบกับโบเก้ภาพทางซ้ายจะดูมีมิติมากกว่าภาพทางขวา

สำหรับช่วงปิดท้ายบทความ ก็ต้องยอมรับว่ายังประหลาดใจไม่หายกับภาพที่ได้ของทั้งสองเลนส์ นึกว่าเลนส์ราขึ้นขนาดนี้ คงใช้การอะไรไม่ได้เลย แต่ที่ไหนได้ กว่าจะงัดออกมาว่าแต่ละภาพต่างกันอย่างไร ต้องดูแล้วดูอีกถึงขนาดต้องเรียกคนในบ้านที่ไม่ค่อยรู้เรื่องการถ่ายภาพมาช่วยดูเพื่อความแน่ใจ แต่อย่างไรก็ตาม หากเลนส์ของท่านมีราขึ้น ควรรีบส่งซ่อมทันทีนะครับ ไม่อย่างนั้นแล้ว ราอาจกินลึกไปจนถึงชั้นกระจกและไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีก และมันยังสามารถแพร่กระจายไปยังเลนส์ตัวอื่น ๆ ได้ ช่วงนี้หน้าฝนต้องดูแลสุขภาพของตัวเองและสุขภาพเลนส์ด้วยนะครับ หมดหน้าฝนนี้แล้วจะได้พาเลนส์ไปเที่ยวกันได้อีก

-By Papa N' Keen LensSeed.com

หมายเหตุ: ภาพที่ถ่ายเปรียบเทียบกันระหว่างเลนส์ทั้งสอง เมื่อถ่ายภาพใต้สถาการณ์เดียวกัน ใช้การตั้งค่าเหมือนกัน และถ่ายห่างกันไม่เกิน 2 นาที


Tags: Lens profile เลนส์กับเชื้อรา Takumar 50 1.4 8 elements